ศิลาจารึกหลักนี้
ถูกวางแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2514
เป็นศิลาจารึกที่มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ล้านนา
2 ประการ
ประการแรก เป็นหลักฐานที่ระบุชัดเจนถึงความเกี่ยวดองระหว่างกัน
ของอาณาจักรล้านนาและล้านช้างในอดีต
ประการที่สอง
เป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายให้เปลี่ยนคำเรียกขานดินแดนภาคเหนือของไทย จากเดิมที่คนส่วนใหญ่เรียก“ลานนา”
แต่ที่ถูกต้องแล้วต้องเรียกว่า“ล้านนา”
ศิลาจารึกหลักนี้คือ “ศิลาจารึกวัดเชียงสา”...
|
ศิลาจารึกวัดเชียงสา ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ |
ประเด็นความเกี่ยวดองของ
2 อาณาจักรนั้น กองหอสมุดแห่งชาติ
กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนศิลาจารึกหลักนี้โดยใช้ชื่อว่า…“จารึกหลักที่ ชม.7
จารึกกษัตริย์ล้านช้างล้านนา”
หมายถึงจารึกของกษัตริย์ที่ครอง 2 แผ่นดิน ได้แก่ล้านนา(เชียงใหม่)
และล้านช้าง(หลวงพระบาง) ในเวลาเดียวกัน
กษัตริย์องค์นี้มีนามว่า...“พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช”
ศิลาจารึกหลักนี้เป็นแผ่นหินทรายสีแดง
รูปใบเสมา มีขนาดกว้าง 50
เซนติเมตร สูง 128
เซนติเมตร จารึกตัวอักษรไว้ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีตัวอักษร 9 บันทัด อีกด้านหนึ่ง 17
บันทัด
เนื้อหาระบุศักราชที่จารึกว่า...พ.ศ.2096
ภาษาที่ใช้จารึกเป็นตัวอักษรฝักขาม
ตัวอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่แพร่ขยายจากสุโขทัยขึ้นไปยังล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่
20 และได้รับความนิยมใช้จารึกเรื่องราวต่างๆบนหลักศิลาอยู่ช่วงหนึ่ง
จนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 จึงเริ่มเสื่อมความนิยม
เพราะคนเปลี่ยนมาใช้อักษรธรรมล้านนาในการจารึกเรื่องราวต่างๆมากกว่า
เนื้อหาที่จารึก อ่านได้ว่า...
“ศุภมัสตุ ศักราชได้ 915
ตัว ในปีฉลู ไทยว่าปีกาเปล้า
เดือน 3 ออกค่ำ 1 วัน 5 ไทยกาเร้า ฤกษ์ศรวณะ สมเด็จบรมบพิตรตนสถิต
เสวยราชพิภพทั้งสองแผ่นดินล้านช้าง(ล้าน?)นา มีจิตปสาทศรัทธา ก็ได้หื้อเขตกับอาราม(วัดเชียง)สา
ในบ้านนางจัน บ้านเชียงสา บ้านกองแก้ว ทั้งบวล มีเชา 81800
เบ้ เชาเผิ้งกับคิง
ต่อวัดนางจัน มี 1250 น้ำ วันออกน้ำของ เป็นแดนวันตก แดน 50 วา หนใต้ หนเหนือ เขตบ้านเ....”
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
จังหวัดเชียงใหม่ แปลความหมายเนื้อหาข้างต้นไว้โดยสังเขป ดังนี้...
“ศิลาจารึกวัดเชียงสา...พระไชยเชษฐาธิราช
ผู้ครองเมืองล้านช้างและล้านนา มีศรัทธาถวายที่ดิน และข้าวัด แด่วัดเชียงสา
ที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 4 มกราคม
พุทธศักราช 2096”
วัดเชียงสา
สันนิษฐานว่าอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน
ในประชุมจารึกล้านนา
เล่มที่ 1 ระบุว่า ทหารไทยเป็นผู้พบศิลาจารึกหลักนี้เมื่อ พ.ศ.2483 ที่บ้านห้วยทราย
ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเชียงของ
จังหวัดเชียงราย(ปัจจุบันคือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว) และได้นำศิลาจารึกที่พบไปเก็บไว้ยังค่ายทหารจังหวัดลำปาง
พ.ศ.2495 ค่ายทหารจังหวัดลำปาง ได้มอบศิลาจารึกหลักนี้ให้แก่พุทธสถาน
จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2514 พุทธสถานได้มอบศิลาจารึกนี้ต่อให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาจัดแสดงแก่ประชาชนทั่วไป จนถึงปัจจุบัน
ล้านนาและล้านช้างเป็น 2
อาณาจักรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น
โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าติโลกราช(พ.ศ.1984-2030) กษัตริย์ลำดับที่ 9 ของล้านนา ซึ่งได้ส่งกำลังทหารจากเมืองน่านไปช่วยขับไล่กองทัพญวนของกษัตริย์เลทันตง
ที่ยึดครองเมืองหลวงพระบางอยู่จนต้องพ่ายแพ้กลับไปเมื่อ พ.ศ.2023
จากนั้น ได้สนับสนุนพญาสุวรรณบัลลังก์(พระยาซายขาว)
ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านช้าง ลำดับที่ 32
ชัยชนะของทัพล้านนาที่มีต่อทัพญวนครั้งนี้เลื่องลือไปถึงราชสำนักจีนในขณะนั้น
ล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการเมืองและพุทธศาสนา
พ.ศ.2020 พระองค์ได้โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น เป็นการสังคายนาครั้งที่ 8
ของโลก พระไตรปิฎกที่ได้รับการชำระครั้งนี้
ถูกนำมาเป็นหลักปฏิบัติของพระสงฆ์นิกายต่างๆ ทั้งในล้านนาและล้านช้างสืบมา
ผลจากการสังคายนาพระไตรปิฎก
เมื่อมาถึงยุคพญาแก้ว(พ.ศ.2038-2068) กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ซึ่งเป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราช
พระสงฆ์ในเชียงใหม่จึงเป็นพระที่มีความรู้สูงส่ง
สามารถเขียนวรรณกรรมพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีจำนวนมาก จนมีชื่อเสียงแพร่หลายไปจนถึงอาณาจักรล้านช้าง
ต่อมาในยุคพญาเกศเชษฐราช(พ.ศ.2068-2081 และ พ.ศ.2086-2088)
อนุชาของพญาแก้ว ขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านนา ลำดับที่ 12 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง ลำดับที่
36(พ.ศ.2063-2091) ได้มีการส่งพระไตรปิฎกจำนวน 60
พระคัมภีร์ พร้อมกับคณะพระเถระจากเชียงใหม่
เดินทางไปเผยแผ่วรรณกรรมยังเมืองหลวงพระบาง
เป็นเหตุผลทำให้อักษรธรรมล้านนาถูกใช้อย่างแพร่หลายในล้านช้าง
และวรรณกรรมของล้านนากับล้านช้างมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน
อย่างไรก็ตาม ล้านนาสมัยพญาเกศเชษฐราช
ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคเสื่อม เพราะสถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ต้องพึ่งอิงกับเจ้านายและขุนนาง
ซึ่งล้วนแตกความสามัคคี แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
พญาเกศเชษฐราชหวังสร้างความมั่นคงแก่สถานภาพของตน
จึงได้เกี่ยวดองกับอาณาจักรล้านช้าง ด้วยการส่งพระนางยอดคำทิพย์ ธิดาไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าโพธิสาลราช
และได้ขึ้นเป็นอัครมเหสีของกษัตริย์ล้านช้าง
พระเจ้าโพธิสาลราชและพระนางยอดคำทิพย์มีราชบุตร-ธิดารวม 5 องค์ ราชบุตรองค์โตคือพระไชยเชษฐาธิราช
เมื่อพญาเกศเชษฐราชสิ้นพระชนม์
ขุนนางในเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองแตกแยก พยายามแย่งชิงความเป็นใหญ่ด้วยการสนับสนุนเจ้านายฝ่ายตนให้ขึ้นครองราชย์
ขณะนั้นเจ้านายที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์มังรายและมีสิทธิขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่
ได้แก่เจ้าเมืองเชียงตุงและเจ้าเมืองนาย
ความแตกแยกของขุนนางที่ต่างสนับสนุนเจ้านายของตน
ก่อให้เกิดเป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆขึ้นในเชียงใหม่ ขุนนางบางฝ่ายได้ลงไปขอความช่วยเหลือจากอยุธยา
ขณะที่ทัพอยุธยากำลังเดินทางขึ้นมายังเชียงใหม่
ขุนนางอีกกลุ่มได้ไปเชิญพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังรายและมีสิทธิชอบธรรมที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่อีกองค์หนึ่ง
จากล้านช้าง หลวงพระบาง
พระไชยเชษฐาธิราชตอบตกลงและได้เดินทางจากหลวงพระบางมาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่
ลำดับที่ 15(พ.ศ.2089-2091)
ช่วงที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นกษัตริย์เชียงใหม่
อาณาจักรล้านนาและล้านช้างมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มีการนำวัฒนธรรม ระเบียบ
ประเพณี ของสองราชสำนักเชื่อมต่อกัน เช่น มีการนำกฏหมายโคสาราษฎร์ของอาณาจักรล้านช้าง
ที่ตราขึ้นในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราชมาใช้ในอาณาจักรล้านนาฯลฯ
พ.ศ.2090
พระเจ้าโพธิสาลราชสวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เดินทางกลับไปหลวงพระบางเพื่อร่วมงานศพพระบิดา
โดยมิได้สละราชสมบัติในเชียงใหม่
การเดินทางจากล้านนาไปยังล้านช้างครั้งนี้
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระแก้วขาวไปด้วย
ที่หลวงพระบาง หลังสิ้นพระเจ้าโพธิสาลราช
พระอนุชา 2 องค์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติกัน
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเข้าปราบปรามและได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านช้าง
ลำดับที่ 37
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้ครอง
2 แผ่นดินในเวลาเดียวกัน คือเป็นกษัตริย์ของทั้งอาณาจักรล้านนาและล้านช้าง
|
อนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง เวียงจัน |
อย่างไรก็ตาม
การที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จไปหลวงพระบาง ทำให้เหล่าขุนนางในเชียงใหม่เห็นว่าพระองค์คงไม่ได้กลับมายังเชียงใหม่อีกแล้ว
จึงได้ไปเชิญพญาเมกุจากเมืองนายให้มาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่สืบต่อ
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไม่พอใจ
เพราะเป็นการขึ้นครองราชย์โดยที่พระองค์ยังเป็นกษัตริย์เชียงใหม่อยู่
จึงได้ยกทัพจากหลวงพระบางมาถึงเชียงแสน
ช่วงเวลานั้น
เป็นช่วงที่พม่าโดยการนำของแม่ทัพบุเรงนองกำลังขยายอิทธิพล รบชนะสามารถยึดครองอาณาจักรต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีเชียงใหม่เป็นเป้าหมายต่อไป
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเมื่อตีได้เมืองเชียงแสนแล้ว
เห็นว่าคงไม่สามารถต้านทานกำลังของพม่าได้ จึงได้ยกทัพกลับหลวงพระบาง
และเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามไม่ให้อาณาจักรล้านช้างต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้ย้ายเมืองหลวงของล้านช้างจากหลวงพระบางไปยังเวียงจัน
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้รับการยกย่องให้เป็นมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของล้านช้าง
เพราะกุศโลบายที่พระองค์นำมาใช้รับมือกับกองทัพพม่าของกษัตริย์บุเรงนอง
ทำให้ล้านช้างไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า นอกจากนี้ยังสร้างนครหลวงเวียงจัน
พระธาตุหลวงเวียงจัน และพระธาตุศรีสองรัก ที่ด่านซ้าย(จังหวัดเลยปัจจุบัน) เพื่อเป็นประจักษ์พยานในความสัมพันธ์ของล้านช้างกับอยุธยาที่จะร่วมมือกันต่อต้านกองทัพพม่า
ขณะที่เชียงใหม่ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นแก่พม่าใน
พ.ศ.2101...
|
พระธาตุหลวงเวียงจัน ด้านหน้าจะเห็นอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอย่างชัดเจน |
ส่วนประเด็นการเปลี่ยนคำเรียกขานดินแดนแห่งนี้จาก“ลานนา”เป็น“ล้านนา”นั้น
ศิลาจารึกวัดเชียงสาหลักนี้เป็นวัตถุพยานสำคัญในการอ้างอิงของ
ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งเชื่อว่าดินแดนภาคเหนือของไทยนั้นต้องเรียกว่า“ล้านนา”
มากกว่า“ลานนา”
ดร.ฮันส์ เพนธ์ จบด๊อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยลิสบอน
ประเทศโปรตุเกส หลังจบปริญญาเอก ได้เดินทางมาเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย
เริ่มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้ขึ้นมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาเยอรมัน ให้กับคณะมนุษยศาสตร์
ด้วยความสนใจศึกษาจารึกต่างๆในดินแดนล้านนา
ดร.ฮันส์ เพนธ์ได้ไปเรียนการอ่าน-เขียนตัวเมืองจนมีความช่ำชอง
พ.ศ.2523
โดย ดร.ฮันส์ เพนธ์ ได้เสนอบทความยืนยันการพบคำ“ล้านนา”คู่กับคำ“ล้านช้าง”
ในเนื้อหาบนศิลาจารึกวัดเชียงสา จากนั้น ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบศิลาจารึกหลักนี้
และพบว่ามีทั้งสองคำอยู่คู่กันจริง
พ.ศ.2526 ศ.ดร.ประเสริฐเสนอให้ใช้คำว่า“ล้านนา”แทน“ลานนา”
แต่ก็ยังมีนักวิชาการบางส่วนที่ชินกับการใช้คำว่า“ลานนา”อยู่
ก่อนหน้านั้น
เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ หนังสือแบบเรียนและเอกสารวิชาการต่างๆ ล้วนใช้คำว่า“ลานนา”ในการเรียกดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย
เพราะเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการทำนา
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในอดีตการเขียนจารึกต่างๆมิได้เคร่งครัดเรื่องการใส่วรรณยุกต์
จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ คัมภีร์ใบลานจำนวนมากมีทั้งคำ“ล้านนา”และ“ลานนา” เพราะเป็นที่เข้าใจกันของผู้คนในสมัยนั้นว่าแม้ในเนื้อหาไม่มีวรรณยุกต์โทกำกับ
แต่ผู้อ่านก็สามารถอ่านโดยออกเสียงเหมือนมีวรรณยุกต์โทกำกับได้ เมื่อมาถึงระยะหลัง
จึงกลายเป็นความเข้าใจของคนทั่วไปว่าดินแดนภาคเหนือคือ“ลานนา”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นต้นมา นักวิชาการจำนวนหนึ่งพบว่าคำ“ล้านนา”เป็นคำที่ถูกต้อง
เพราะหมายถึงดินแดนที่มีที่นาจำนวนนับล้าน สอดคล้องกับคำ“ล้านช้าง”
ที่หมายถึงดินแดนที่มีช้างเป็นจำนวนมาก
สมมุติฐานนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ดร.ฮันส์
เพนธ์ ได้พบว่าเนื้อหาในจารึกวัดเชียงสาเขียนคำ“ล้านนา”ควบคู่กับคำ“ล้านช้าง”
โดยมีวรรณยุกต์โทกำกับทั้งคู่ และได้เสนอบทความดังกล่าว
พ.ศ. 2530 มีการโต้เถียงกันอีกรอบเกี่ยวกับคำ“ล้านนา”และ“ลานนา”
และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ที่มี ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร
เป็นประธานการสอบชำระได้พิจารณาและมีข้อยุติว่าคำว่า“ล้านนา”คือคำที่ถูกต้อง จากนั้นในวงวิชาการจึงได้ใช้คำว่า“ล้านนา”เป็นการทั่วไป...
ศิลาจารึกซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ล้านนาหลักนี้
ยังคงถูกวางแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ที่สนใจสามารถไปชมได้ตามวันและเวลาเปิดทำการของพิพิธภัณฑ์...
อ้างอิงจาก :
https://www.facebook.com/notes/pensupa-sukkata/ดรฮันส์-เพนธ์-นักจารึกวิทยาที่โลกไม่มีวันลืม-รฦก-คารวาลัย-สามปราชญ์แห่งล้านนา-2/678335935514014/?hc_ref=ARTpJRMQLAF-npEVMXamjIs673p_KAc4acOV1eI3EG1jQ5uCtQDWfXzTBwrW8KmIcG0&pnref=story
หนังสือ“ประวัติศาสตร์ล้านนา”
เขียนโดยอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล
หนังสือ “ลำดับกษัตริย์ลาว” เขียนโดยสุรศักดิ์
ศรีสำอาง