วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฟื้น.....ตองอู

หนึ่งในตองอู”เป็นสำนวนจากนวนิยาย“ผู้ชนะสิบทิศ”อันโด่งดังในอดีตที่หลายคนน่ายังจำกันได้

เป็นสำนวนที่หมายถึง“จะเด็ด”ตัวละครเอกของเรื่อง ที่“ยาขอบ”ผู้ประพันธ์ สร้างขึ้นจากเรื่องราวของพระเจ้าบุเรงนอง อดีตวีรกษัตริย์ของพม่า ที่ได้สร้างอาณาจักรพม่าให้ยิ่งใหญ่เมื่อเกือบ 500 ปีก่อน

“ตองอู”คือเมืองต้นกำเนิดของ“ราชวงศ์ตองอู” ราชวงศ์ซึ่งสร้างความรุ่งเรืองให้แก่พม่าในยุคที่ 2 ถัดจากยุคของพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม
เมืองตองอูในประวัติศาสตร์
(ภาพประกอบจาก “วิกิพีเดีย” https://en.wikipedia.org/wiki/Taungoo#/media/File:Toungoo_ou_taungû.jpg)
ทุกวันนี้ ชาวพม่ายกย่องอดีตวีรกษัตริย์ 3 องค์ ให้เป็น 3 วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ประกอบด้วย พระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์คอนบอง

ราชวงศ์ตองอูมีพระเจ้ามินจีโยเป็นปฐมกษัตริย์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มขยายตัวในยุคของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ โอรสของพระเจ้ามินจีโย แต่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือยุคของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์องค์ที่ 3 ที่สามารถขยายอาณาจักรออกไปครอบคลุมทั้งลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง
อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองในเมืองตองอู

(ภาพประกอบจาก "วิกิพีเดีย" https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0b/Bayintnaung_image.jpg)
ราชวงศ์ตองอูเริ่มเสื่อมลงในยุคของพระเจ้านันทบุเรง โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง เกิดการแข็งเมืองของประเทศราชหลายแห่ง รวมถึงกรุงศรีอยุธยา จนท้ายสุด ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรมอญในช่วงท้ายของราชวงศ์

แต่เมืองตองอูยังคงอยู่…

ปัจจุบัน ตองอู”เป็นเมืองหนึ่งในเขตพะโค(หงสาวดี) อยู่เหนือกรุงย่างกุ้งขึ้นไปประมาณ 220 กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะโตง

ตองอูเคยเป็นเมืองปิดอยู่หลายปี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ตั้งแต่ปี 1948 จนมีการเซ็นสัญญาหยุดยิงระหว่าง 2 ฝ่ายเมื่อปี 2012 รวมถึงได้รับความเสียหายจากเหตุจราจลระหว่างชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธกับชาวมุสลิมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2001 ซึ่งมีผลทำให้โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถูกทำลายลงไปหลายแห่ง

ปัจจุบัน ทางการเมียนมาได้เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปในเมืองตองอูได้แล้ว เริ่มมีบริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งจัดโปรแกรมเที่ยวตองอูไว้รวมกับการไปชมเมืองหงสาวดี

ล่าสุด ขิ่น หม่อง เอ ประธาน KMA Group ได้ชักชวนประชาชนชาวตองอูร่วมกันฟื้นฟูเมืองประวัติศาสตร์ ที่เป็นบ้านเกิดของเขา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศ และเพื่ออนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองเอาไว้ไม่ให้สูญหาย


ขิ่น หม่อง เอ
(ภาพประกอบจากเว็บไซต์ KMA Group  http://www.kmagroup.net)
ขิ่น หม่อง เอ ได้เริ่มต้นโดยร่วมกับชาวตองอู ขุดลอกและปรับทัศนียภาพคูเมืองเก่าที่ตื้นเขินให้กลับมีสภาพดีขึ้น เมื่อไม่นานมานี้

เขายังรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของตองอู และได้เสนอไปยังรัฐบาลเมียนมา โดยหวังว่าจะเสนอให้ขึ้นทะเบียนเมืองตองอูเป็นมรดกโลกต่อ UNESCO ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูตองอูยังมีอีกหลายภารกิจ เพราะด้วยความที่เป็นเมืองปิดมานาน ทำให้ขาดแคลนระบบสาธารณูโภค รวมถึงมีการสร้างบ้านเรือนรุกล้ำเข้าไปในบริเวณโบราณสถาน ซึ่งต้องมีการเจรจาให้ชาวบ้านที่บุกรุกโยกย้ายออกไปก่อน จึงจะเริ่มต้นการบูรณะได้

“ถ้าเราต้องการให้ตองอูเป็นจุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยว เราต้องร่วมกันฟื้นฟูมรดกที่ราชวงศ์ตองอูได้สร้างไว้โดยทันที” เขาให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Times


KMA Group เป็นกลุ่มธุรกิจซึ่งประกอบกิจการหลากหลายประเภท ทั้งโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง เหมืองแร่ ฯลฯ


อ้างอิงจาก :
http://www.mmtimes.com/index.php/business/18772-tycoon-pushes-tourism-in-recently-peaceful-taungoo.html

พิธีเปิดโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว



เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิดโรงไฟฟ้าหงสาอย่างเป็นทางการ โดยมีนายบุญยัง วอละจิต รองประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

นอกจากนี้ยังมีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายคำมะนี อินทิราด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ นายพงสะหวัน สินทะวง เจ้าแขวงไชยะบูลี รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งของลาวและไทยเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบูลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัทบ้านปูพาวเวอร์ และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้นฝ่ายละ 40% อีก 20% ถือโดยรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว

ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้จำนวน 1,478 เมกะวัตต์ จะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยการเชื่อมสายส่งจากโรงไฟฟ้ามายังชายแดนไทยที่ อ.สองแคว จ.น่าน ส่วนที่เหลืออีก 400 เมกะวัตต์ขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว


โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าปากเหมือง ใช้พื้นที่รวม 72 ตารางกิโลเมตร ทำให้ในโครงการจำเป็นต้องโยกย้ายประชากรจำนวน 450 ครอบครัว รวมประมาณ 2,000 คนออกจากพื้นที่ แต่การโยกย้ายเป็นไปโดยราบรื่นเนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสาได้ก่อสร้างบ้านและจัดหาที่ทำกินให้ให้กับชาวบ้านที่ถูกโยกย้าย รวมถึงจัดหาอาชีพและส่งเสริมให้ความรู้เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านเหล่านั้น