วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

ตานข้าวใหม่-ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า


ในล้านนา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 มีประเพณีสำคัญที่ทำกันมาแต่โบร่ำโบราณ คือการตานข้าวใหม่และตานหลัวหิงไฟพระเจ้า

“ตาน”เป็นคำเดียวกับ“ทาน”ในภาษากลาง หมายถึงการถวาย การให้ หรือการมอบ

เดือน 4 ของล้านนา ตรงกับช่วงเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงมกราคม เป็นช่วงที่ชาวบ้านเพิ่งเสร็จภารกิจเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกลงนากันมาแต่ฤดูฝน

ข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ก่อนจะนำมารับประทาน ชาวบ้านจะนำข้าวเหล่านั้นไปถวายพระเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ ที่เป็นเจ้าของนามาแต่ดั้งเดิม รวมถึงเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ดูแลปกปักษ์รักษาพื้นที่ทำกินของพวกเขา

การทำบุญนี้เรียกว่า“ตานข้าวใหม่”








วันเพ็ญเดือน 4 ยังเป็นช่วงที่ล้านนามีอากาศหนาวเย็น ชาวบ้านเชื่อว่าพระเจ้า ซึ่งคือพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์-วิหาร ก็ต้องหนาวเย็นเหมือนกับคน จึงช่วยกันหาฟืนมาสุม ก่อเป็นกองไฟสร้างความอบอุ่นให้กับพระเจ้า

คำว่า“หลัว”ภาษาล้านนาหมายถึงฟืน ส่วนคำว่า“หิง”คือการผิงไฟ “ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า” ก็คือการถวายฟืนก่อกองไฟถวายแก่พระพุทธรูปให้ได้ผิงไฟป้องกันความหนาว

รวมถึงพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดก็จะได้รับไออุ่นจากไฟกองนี้ไปด้วย

ตานหลัวหิงไฟพระเจ้าและตานข้าวใหม่ มักทำไปพร้อมๆกัน




ตามประเพณีดั้งเดิมจะแห่ฟืนและข้าวใหม่เข้าวัดตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่าง เมื่อฟืนซึ่งสุมก่อไฟสร้างความอบอุ่นแก่พระพุทธกำลังลุกโชนได้ที่ ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่ไปจี่ในกองไฟเพื่อทำเป็นข้าวจี่ หรือใส่กระบอกไม้ไผ่นำไปเผาเพื่อทำเป็นข้าวหลาม

ข้าวจี่และข้าวหลามเหล่านี้ จะนำมาตักบาตรถวายแก่พระสงฆ์ในตอนเช้า จากนั้นชาวบ้านจึงจะนำไปรับประทาน

ปัจจุบัน การตานข้าวใหม่และหลัวหิงไฟพระเจ้ามีทำกันในวัดที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งชาวบ้านยังคงวิถีดั้งเดิมเอาไว้ได้ ส่วนวัดในตัวเมืองไม่ค่อยได้ทำกันแล้ว

วันเพ็ญเดือน 4 ปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นวันปีใหม่ วัดต้นเกว๋น อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ดำริจะริเริ่มประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจัดในวันนี้เป็นครั้งแรก

แต่เพื่อให้ผู้ที่สนใจประเพณีได้มีโอกาสรับชมโดยพร้อมเพรียงกัน จึงได้ขยับพิธีการจากเดิมที่จะแห่ข้าวใหม่และหลัวตอนเช้ามืด เปลี่ยนมาเป็นการแห่ในช่วงสายแทน...