วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Kanbawza(2)…KBZ Group

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการจำนวนชาติพันธุ์ในเมียนมามีถึง 135 กลุ่ม

การแยกแยะหรือระบุตัวบุคคลว่าเป็นชาติพันธุ์ใด มีวิธีการสังเกตุอย่างง่ายๆแบบหนึ่ง คือดูจากคำนำหน้านามเวลากล่าวถึงบุคคลนั้น

แต่ละชาติพันธุ์ในเมียนมามักมีคำนำหน้านามเฉพาะของตน

คำที่เราชินหูอยู่แล้วคือ “อู”สำหรับใช้นำหน้าชื่อผู้ชาย และ“ดอ”สำหรับใช้นำหน้าชื่อผู้หญิง

ทั้ง 2 คำ ใช้เป็นคำนำหน้านามโดยรวมสำหรับชาวเมียนมาทั้งหมด

แต่หากเป็นผู้ชายชาวปะโอ เราอาจได้ยินคำนำหน้านามว่า“ขู่น”เพิ่มเข้ามาอีก

หรือหากเป็นผู้ชายชาวปะหล่องหรือตะอั้ง เราจะพบคำว่า“มาย”อยู่หน้าชื่อ เช่นเดียวกับผู้ชายชาวมอญที่มักเห็นคำว่า“นาย” ฯลฯ

สำหรับชาวไทใหญ่ ในภาษาพม่ามักใช้คำว่า“ซาย”นำหน้าชื่อผู้ชาย และ“นาน”หรือ“นาง” นำหน้าชื่อผู้หญิง ซึ่งก็มาจากคำว่า“จาย” และ“นาง” ในภาษาไทใหญ่นั่นเอง

และหลายครั้ง ที่เราได้พบเห็นคำว่า“อูซาย” หรือ“ดอนาง” อยู่หน้าชื่อผู้ชายและผู้หญิงชาวไทใหญ่

เพราะยังมีคนไม่เข้าใจ คิดว่า“ซาย” “นาน” หรือ“นาง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อคนๆนั้น!!!

กล่าวมาเสียมากมาย ยังคงค้างอยู่ในเรื่องชื่อต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนที่แล้ว

เนื้อหาจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่เรื่องของแบรนด์ Kanbawza…


การเปิดประเทศของเมียนมาโดยรับแนวทางเศรษฐกิจแบบการตลาดที่เริ่มในต้นทศวรรษที่ 2000 นับเป็นจุดเริ่มต้นการขยายธุรกิจของธนาคาร Kanbawza จนก้าวสู่การเป็น KBZ Group

เดือนกุมภาพันธ์ 2010 ธนาคาร Kanbawza เข้าซื้อหุ้น 80% ใน Myanmar Airways International(MAI) จากรัฐบาลเมียนมา ถัดจากนั้นอีก 2 เดือน วันที่ 1 เมษายน ได้มีการเปิดตัวสายการบินภายในประเทศแห่งใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Air KBZ

MAI เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ Myanma Airways สายการบินเก่าแก่ที่รัฐบาลพม่าตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1946

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่ามาเป็นเมียนมา ในปี 1993 ได้มีการแยกธุรกิจการบินระหว่างประเทศของ Myanma Airways ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ Myanmar Airways International โดยการร่วมทุนระหว่าง Myanma Airways กับ Highsonic Enterprises จากสิงคโปร์ และได้รับการสนับสนุนจาก Royal Brunei Airlines

ฝูงบิน MAI(ภาพจากเว็บไซต์ http://www.kbzgroup.com.mm)

หลังธนาคาร Kanbawza เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% ใน MAI ได้ซื้อเครื่องบินเพิ่ม และขยายเส้นทางบินออกไปในหลายประเทศ จนได้รับการยอมรับจากองค์กรการบินสากล

ปี 2014 ธนาคาร Kanbawza ได้ซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 20% จากรัฐบาล

ส่วนสายการบินภายในประเทศ หลังจากเปิดตัว Air KBZ ในเดือนเมษายน 2010 Air KBZ ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนปีถัดมาด้วยเครื่อง ATR 72-500 จำนวน 3 ลำ ใน 5 ปลายทาง ได้แก่ ย่างกุ้ง หย่องอู(พุกาม) มัณฑะเลย์ เฮโฮ(ตองจี) และมะริด

จากนั้นได้สั่งซื้อเครื่อง ATR 72-600 เข้าประจำการในฝูงบินเพิ่มอีก 5 ลำ และขยายปลายทางเพิ่มไปยังเนปิดอ กะเล มิตจีนา ลาเชี่ยว ท่าขี้เหล็ก เชียงตุง ทวาย เกาะสอง ตานต่วยและซิตต่วย ในรัฐยะไข่

Air KBZ(ภาพจากเว็บไซต์ http://www.kbzgroup.com.mm)

เดือนมิถุนายน 2012 รัฐบาลเมียนมามีนโยบายให้ใบอนุญาตบริษัทประกันภัยแก่เอกชน ธนาคาร Kanbawza  ได้แสดงความสนใจและยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจประกันภัยจากรัฐบาล

วันที่ 12 กันยายน 2012 รัฐบาลเมียนมาอนุมัติให้ธนาคาร Kanbawza ทำธุรกิจประกันภัยได้ ในนามบริษัท IKBZ Insurance ถือเป็นบริษัทประกันภัยเอกชนรายแรกของเมียนมา โดยมีการมอบใบอนุญาตธุรกิจประกันภัยหมายเลข 001 ให้ในวันที่ 5 มิถุนายนปีถัดมา ด้วยทุนจดทะเบียน 46 พันล้านจั๊ด

พิธีฉลองเปิดบริษัท IKBZ Insurance ได้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2013

นโยบายที่จะให้ใบอนุญาตธุรกิจประกันภัยแก่เอกชนของรัฐบาลเมียนมา เป็นไปตามแนวโน้มของธุรกิจการเงินทั่วโลกขณะนั้น ที่ต้องมีการให้บริการแบบครบวงจร(Universal Banking)

ซึ่งอีก 1 ในแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมา คือการเปิดตลาดหุ้น

ธนาคารกลางเมียนมา ได้ร่วมมือกับธนาคารไดวาจากญี่ปุ่นและตลาดหุ้นโตเกียว วางแนวทางเปิดตลาดหุ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2016

ธนาคาร Kanbawza  ก็เช่นเดียวกัน ได้เตรียมหาพาร์ทเนอร์สำหรับการทำธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อรองรับการเปิดตลาดหุ้นของประเทศ

วันที่ 7 ตุลาคม 2015 กระทรวงการคลังเมียนมา ได้ให้ใบอนุญาตรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์(Underwriter License) แก่บริษัทหลักทรัพย์ Kanbawza Stirling Coleman(KBZSC) บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคาร Kanbawza กับ Stirling Coleman CapitalLimited บริษัทการเงินเพื่อการลงทุนอิสระจากสิงคโปร์

หลังจากตลาดหุ้นย่างกุ้งเริ่มเปิดการซื้อขาย KBZSC ก็ได้รับใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มครบทั้ง 4 ใบ ได้แก่ ใบอนุญาตจัดจำหน่าย(Dealing) นายหน้า(Broking) และที่ปรึกษาการลงทุน(Investment Advisory)

โดยมีธนาคาร Kanbawza ซึ่งถูกเลือกจากตลาดหุ้นย่างกุ้ง ให้เป็น Clearing Bank รายแรกของตลาดหุ้นแห่งนี้...

ที่เล่ามาทั้งหมดในตอนนี้ เป็นเฉพาะส่วนธุรกิจการบินและธุรกิจการเงิน ที่แตกตัวออกมาจากธนาคาร Kanbawza

ถือเป็นการแตกตัวที่มีสีสัน น่าศึกษาไม่น้อย

แน่นอน เบื้องหลังสีสันที่ว่า อูอ่องโกวินในฐานะประธานธนาคาร Kanbawza ย่อมมีบทบาทสำคัญ

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือแรงสนับสนับสนุนจากครอบครัว

“สยาจอง”อ่องโกวิน แต่งงานกับอดีตครูสอนคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่า“นางตันต่วย”

ทั้งคู่มีบุตรสาว 3 คน

คนแรกชื่อว่า“นางแลงคำ”

คนรองชื่อว่า“นางคำน่อง”

และคนสุดท้องชื่อว่า“นางโมหอม”

ข้อมูลเรื่องราวครอบครัว และธุรกิจของสยาจองอ่องโกวินยังมีอีกมากพอสมควร คงต้องนำมาเล่าอีกครั้งในตอนหน้า...

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Kanbawza(1) ธนาคารกัมโพชะ...ธนาคารไทใหญ่

Kanbawza เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา...

รัฐฉาน รัฐของไทใหญ่ ก็เป็นรัฐซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดในเมียนมา...

ชื่อธนาคาร Kanbawza หรือ KBZ ย่อมเป็นที่คุ้นหูของคนไทย เพราะเป็นธนาคารสัญชาติเมียนมาแห่งแรกที่เข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยเมื่อปี 2016

แต่หากแปลตามรากศัพท์แล้ว ชื่อธนาคาร Kanbawza คือ“ธนาคารไทใหญ่”!!!

ธนาคาร Kanbawza สาขาเชียงตุง(บันทึกไว้เมื่อเดือนเมษายน 2011)

Kanbawza อ่านตามตัวอักษรภาษาพม่าว่า“ก่ะบอซ่ะ” อ่านตามตัวอักษรภาษาไทใหญ่คือ“กั่มป๊อจ้ะ”

ทั้ง 2 คำ ตรงกับคำภาษาบาลีซึ่งภาษาไทยอ่านว่า“กัมโพชะ” หรือ“กัมโพช”

คำว่า“กัมโพชะ”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเขมร หรือประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด

แต่เป็นชื่อในภาษาบาลีของอาณาจักรไทใหญ่ในอดีต

ความเป็นมาของชื่อ“กัมโพช”หรือ“กัมโพชะ”ในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นไปตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในพื้นที่แถบนี้มาช้านาน

ชื่ออาณาจักรหรือเมืองหลายแห่งในสุวรรณภูมิ ตั้งตามชื่ออาณาจักรหรือชื่อเมืองในชมพูทวีปที่มีการกล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก อาทิ

เมืองหมอกขาวมาวโหลง เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไทใหญ่ในอดีตในยุคเจ้าเสือข่านฟ้า ซึ่งปัจจุบันคือเมืองรุ่ยลี่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลหยุนหนาน ของจีน เดิมมีชื่อว่าเมือง“โกสัมพี”

เมืองเชียงรุ่ง เมืองหลวงของอาณาจักรสิบสองปันนาของชาวลื้อ ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ในมณฑลหยุนหนานเช่นกัน มีชื่อเดิมว่าเมือง“พาราณสี”

อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ต้นกำเนิดของชาวล้านนาที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ตั้งตามชื่อของแคว้นโยนก ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป

แม้แต่กรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีของสยามเอง ที่มาของชื่อก็ตั้งตามดินแดนที่ถูกกล่าวถึงในพระไตรปิฎก

การที่อาณาจักรไทใหญ่ที่อยู่ในเขตแดนของเมียนมาปัจจุบัน ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า“กัมโพช” หรือ“กัมโพชะ” ก็เป็นไปตามคติความเชื่อนี้

“กัมโพช”เป็นชื่อของอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งในชมพูทวีป ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเมืองทวารกา

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือ“ความเป็นมาของคำ สยาม ไทย ลาว และขอม”ว่า ในภาษาราชการของพม่าสมัยก่อนนั้น เรียกบรรดารัฐไทใหญ่ทั้งหมด นับแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีจนเข้าไปในดินแดนหยุนหนานของจีนว่ากัมโพช และเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่ครองรัฐต่างๆ ก็นำคำว่ากัมโพชมาเป็นส่วนหนึ่งในนามทางการของตน

จิตรอ้างข้อมูลของพระยาประชากิจกรจักร ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารไต ที่ระบุนามของเจ้าฟ้าไตของเมืองต่างๆในยุคหนึ่งไว้ ดังนี้

-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีปวรสุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองนาย
-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีสุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองลายค่า
-เจ้ากัมโพชศรีมหาวงศ์ศรีธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองปั่น
-เจ้ากัมโพชรัฐวงศ์สีหธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองปุ
-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีราช...เจ้าฟ้าเมืองหมอกใหม่
-เจ้ากัมโพชรัฐศรีปวรมหาวงศ์สุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองยอง
-เจ้ากัมโพชมหาวงศ์...เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ

พระยาประชากิจกรจักรระบุว่าเจ้าฟ้าไทใหญ่เชื่อว่าเชื้อสายของตนมาจากวงศ์กัมโพช โดยเมืองแสนหวีซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไทใหญ่ด้วยนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เมืองศิริวิลาศมหากัมโพชสังฆีโกสามพี

ในยุครุ่งเรืองที่สุดของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระองค์รบชนะเมืองต่างๆ สามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าเป็นปึกแผ่นจนได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศแล้ว พระองค์ได้สร้างพระมหาราชวังขึ้นในเมืองหงสาวดี(เมืองหลวงเก่าของมอญ) โดยใช้เชลยจากประเทศราชต่างๆที่พระองค์รบชนะเป็นแรงงานในการก่อสร้าง

รอบพระมหาราชวังมีประตู 20 แห่ง แต่ละประตูตั้งชื่อตามเมืองที่พระองค์ได้พิชิตมาได้ อาทิ ประตูโยเดีย ประตูเชียงใหม่ฯลฯ

ทรงตั้งชื่อพระมหาราชวังแห่งนี้ว่า“กัมโพชธานี”(Kanbawzathadi Golden Palace)

ปัจจุบัน กัมโพชธานีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองหงสาวดี(พะโค)…

“The name Kanbawza is a traditional name for Shan State, an ethnic minority state of the Republic of the Union of Myanmar.”เป็นช่วงแรกของเนื้อหาส่วน Our History ในเว็บไซต์ของ Kanbawza Bank

ธนาคาร Kanbawza ก่อตั้งในวันที่ 1 กรกฏาคม 1994 ที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน วัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนในท้องถิ่น

เดือนพฤศจิกายน 1999 ธนาคาร Kanbawza ปรับโครงสร้าง “สย่าจอง”หรือคุณครูอ่อง โก วิน อดีตครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมประธาน Myanmar Billion Group กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในรัฐฉาน ได้เข้ามาบริหารในฐานะประธานธนาคาร

เดือนเมษายน 2000 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา

การเปิดประเทศ การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2010 ได้ส่งผลให้ธุรกิจของ Kanbawza ได้โอกาสขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

เดือนพฤศจิกายน 2011 ธนาคารกลางเมียนมาได้ให้ใบอนุญาตธุรกิจต่างประเทศแก่ธนาคาร Kanbawza ทำให้สามารถขยายขอบข่ายธุรกรรมการเงินไปยัง 3 สกุลหลักได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ(USD) 
ยูโร(EUR) ดอลลาร์สิงคโปร์(SGD) และต่อมาได้เพิ่มธุรกรรมเงินบาทไทย(THB)ขึ้นมาอีก 1 สกุล

ปี 2012 ธนาคาร Kanbawza จับมือกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยในการโอนเงินกลับบ้าน

ในปี 2013 Kanbawza ได้เข้าเป็นสมาชิก Master Card และนำเครื่อง ATM มาให้บริการแก่ลูกค้า จากนั้นในเดือนเมษายนได้จับมือกับ Western Union เปิดให้บริการชำระเงินและโอนเงินด่วนระหว่างประเทศได้ที่สาขาของธนาคาร ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมียนมา

ปี 2016 ธนาคาร Kanbawza ได้เปิดสำนักงานตัวแทนต่างประเทศแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้บริการแก่แรงงานชาวเมียนมามากกว่าล้านคนที่เข้ามาทำงานที่นี่

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา(2017) ธนาคาร Kanbawza ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยออกบัตรโอนเงินไทย-เมียนมา(Myanmar Remit Card) เพื่อให้บริการแรงงานเมียนมาในไทยสามารถโอนเงินกลับบ้านได้โดยสะดวก รวดเร็ว จากเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง

ปัจจุบัน ธนาคาร Kanbawza มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ 420 แห่ง และมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เรื่องราวของ Kanbawza ยังไม่จบ ยังคงมีข้อมูลอีกมากที่กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเพื่อมานำเสนอต่อในเร็วๆนี้…