วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“ลาวยวน” ผู้รักสันติแห่งหลวงน้ำทา

เรื่องของชาว“ลาวยวน”ในเมืองหลวงน้ำทา ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว เป็นสารคดีเรื่องแรกของ LandLink

วัตถุประสงค์ของการสื่อเนื้อหาผ่านสารคดีชุดนี้ เพื่ออยากให้เห็นว่าในดินแดนภาคพื้นทวีปของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้น หากไม่มีเส้นพรมแดนที่เพิ่งถูกขีดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว มาแบ่งพื้นที่ต่างๆออกเป็นประเทศนั้น คนทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนดินผืนนี้ ส่วนใหญ่ล้วนมีเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก่อน

สารคดีความยาว 25 นาทีชุดนี้ พยายามเก็บรายละเอียดทุกแง่มุมเกี่ยวกับชาวลาวยวนในเมืองหลวงน้ำทา ได้สัมภาษณ์ประธานเผ่าลาวยวน นำเสนอกิจกรรมต่างๆของพวกเขาที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ

หวังว่าเมื่อได้ชมสารคดีชุดนี้แล้ว เพื่อนๆในเพจทุกคน คงได้รู้จักชาว“ลาวยวน”มากขึ้น


ส่วนลิงค์ด้านล่างนี้ เป็นประวัติของลาวยวนที่คนลาวยวนได้ค้นคว้า รวบรวมเอกสารดั้งเดิม และคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ผมได้ถอดเนื้อหาจากประวัติที่พวกเขาได้เขียนขึ้น และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกับ“ยวน” ในประเทศไทย หากได้อ่านประกอบการดูสารคดี คิดว่าน่าจะเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งขึ้น


วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

OK 20 Laos...เมื่อซาวลาวก็โอเคนำ

OK 20 เป็นแฟรนไชส์ร้านขายข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของไทย จุดขายของร้านแห่งนี้ คือสินค้าภายในร้านทุกชิ้นขายในราคา 20 บาท

ประเภทสินค้ามีหลากหลาย ประกอบด้วย สินค้าในครัวเรือน ของใช้ในสำนักงาน สินค้าพลาสติก ของตกแต่งบ้าน ของเล่นสำหรับเด็ก ของชำร่วย สินค้าแฟชั่น และสินค้าเสริมความงาม

OK 20 เป็นแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นจากร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดสาขาแห่งแรกเมื่อปี 2012 จากนั้นก็ขยายสาขาและแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 60 สาขา รวมถึงโกดังใหญ่และจุดกระจายสินค้าทั่วประเทศอีก 9 แห่ง

จุดขายของแฟรนไชส์นี้คือผู้ซื้อแฟรนไชส์ลงทุนไม่สูงมาก(เข้าไปดูรายละเอียดได้ใน http://ok20-shop.com/home/)

จุดกระจายสินค้าในเมืองหลวงน้ำทา ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา OK 20 ได้ขยายไปเปิดสาขาและขายแฟรนไชส์ใน สปป.ลาว ภายใต้ชื่อ“OK 20 Laos” โดยใช้จุดขายเดียวกันคือผู้ซื้อแฟรนไชส์ลงทุนไม่มาก และสินค้าทุกชิ้นในร้านขายในราคา 6,000 กีบ

6,000 กีบ ถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพงมากสำหรับคนลาว

หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่เงิน 1 บาท สามารถแลกเป็นกีบได้เฉลี่ย 229 กีบ สินค้าในร้าน OK 20 Laos จะมีราคาชิ้นละ 26 บาท

ร้าน OK 20 Laos ได้รับความสนใจจากคนลาวไม่น้อย ทั้งผู้ซื้อแฟรนไชส์และผู้บริโภค


ส่วนหนึ่งจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม ชื่อร้าน OK 20 Laos เมื่ออ่านออกเสียงเป็นภาษาลาว คือ“โอเคซาวลาว” ซึ่งอาจหมายถึง“โอเค ชาวลาวทั้งหลาย ทุกอย่างขายในราคา 6,000 กีบ”

อีกจุดที่น่าสนใจ คือการเข้ามาของร้าน OK 20 Laos เป็นพัฒนาการอีกขั้น ของกระบวนการนำเสนอสินค้าในชีวิตประจำวันของไทยไปสู่ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน

สินค้าไทยเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้ว หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังไม่เปิดกว้างเหมือนทุกวันนี้ การที่ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว จะได้ใช้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย พ่อค้าลาวต้องข้ามพรมแดนมาหาซื้อสินค้าจากร้านค้าในตลาดชายแดน แล้วขนกลับไปขายที่ร้าน

10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศเริ่มเปิด มีการอนุญาตให้รถจากประเทศไทยเข้าไปวิ่งในลาวได้ง่ายขึ้น การนำเสนอสินค้าไทยมีพัฒนาการในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เซลล์จากบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆแบรนด์ เข้าไปทำตลาดโดยตรงในลาวได้กว้างขวางขึ้น รถขนสินค้าแบรนด์ต่างๆ สามารถวิ่งเข้าไปส่งสินค้าถึงมือเจ้าของร้านขายของชำในลาวได้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกัน การขายสินค้าในลักษณะกองทัพมดก็เกิดขึ้น ด้วยการจัดเป็นคาราวานสินค้า ขนสินค้าตระเวนไปเปิดขายตามเมืองต่างๆ

เมื่อเข้าสู่ยุคเปิดเสรีเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) รูปแบบร้านค้าสมัยใหม่ปรากฏหลากหลายขึ้น

แม้ในลาวจะยังจำกัดเงื่อนไขบางประการในการลงทุนในการเปิดร้านสะดวกซื้อ แต่การเข้าไปของ OK 20 Laos นับว่าได้ตอบโจทย์ของการนำเสนอสินค้าสู่ผู้บริโภคลาวได้ในระดับหนึ่ง

เพราะเป็นการขายแฟรสไชส์และเปิดจุดกระจายสินค้า ไม่ใช่เป็นการเปิดร้านค้าแข่งกับคนท้องถิ่น

ที่สำคัญ สินค้าที่ขายหลายชนิดมีราคาถูก สามารถแข่งกับสินค้าประเภทเดียวกันจากจีนได้อย่างพอพัดพอเหวี่ยง

ข้อมูลล่าสุด หลังจากเข้าไปเปิดกิจการในลาวได้ประมาณ 3 เดือน OK 20 Laos มีจุดกระจายสินค้า และตัวแทนจำหน่ายอยู่ 6 แขวงทั่วประเทศ และมีแฟรนไชส์สาขาในนครหลวงเวียงจันอยู่ 11 แห่ง


OK 20 Laos จึงเป็นอีกแบรนด์หนึ่งของไทยในลาว ที่น่าติดตาม...

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ลาวปรับยุทธศาสตร์จาก Land Link เป็น Logistics Hub

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าของประเทศ ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากรัฐบาลในปีที่แล้ว

แผนดังกล่าว เป็นผลต่อเนื่องหลังจากลาวได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยท่าเรือบก(Dry Port)

ตามแผนนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ให้เป็นจุดเด่นแก่ลาว จากประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล(Land Lock) ให้เป็นประเทศบริการทางผ่านด้านคมนาคมขนส่ง(Transit Services) หรือเป็นศูนย์กลางด้านพลาธิการขนส่ง(Logistics Hub)ของภูมิภาค

เป็นการขยายความยุทธศาสตร์เดิมที่ได้ปรับข้อจำกัดของประเทศซึ่งเป็น Land Lock ให้กลายเป็นจุดเด่นคือการเป็น Land Link หรือจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในภูมิภาค

แยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา

ในแผนยุทธศาสตร์ใหม่ ได้กำหนดพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์รวมและกระจายสินค้า หรือเขตโลจิสติกส์สากลทั่วประเทศไว้ 9 จุด ได้แก่

1.เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และเป็นปลายทางของถนนสาย R3a

2.นาเตย แขวงหลวงน้ำทา อยู่ห่างจากด่านบ่อเต็น ชายแดนลาว-จีน ลงมาประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นเมืองสามแยกที่เป็นจุดเชื่อมของถนนสาย R3a กับถนนสาย 13 เหนือ

เมืองไซ แขวงอุดมไซ
3.เมืองไซ แขวงอุดมไซ จุดกึ่งกลางโครงข่ายถนนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังชายแดนไทย-ลาว และชายแดนลาว-เวียดนาม

4.แขวงหลวงพระบาง

5.ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจัน ที่ตั้งสถานีรถไฟแห่งแรกของลาวที่เชื่อมกับทางรถไฟของไทย และยังเป็นปลายทางทางของทางรถไฟสายลาว-จีน

6.หลักซาว แขวงบอลิคำไซ ห่างจากชายแดนลาว-เวียดนามประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นเมืองหลักบนถนนหมายเลข 8 ที่เริ่มมาจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ปลายทางของถนนหมายเลข 8 คือท่าเรือหวุงอ๋าง เมืองฮาตินห์ ชายฝั่งทะเลเวียดนาม

7.เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ตรงข้ามกับ จ.นครพนม เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 และเป็นจุดเริ่มต้นของถนนหมายเลข 8 ซึ่งเป็นถนนที่สั้นที่สุดสำหรับเดินทางจากชายแดนไทยไปยังชายฝั่งทะเลเวียดนาม โดยมีระยะทางเพียงไม่ถึง 300 กิโลเมตร

8.เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขด ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เมืองสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East West Economic Corridor: EWEC)

9.วังเต่า แขวงจำปาสัก ตรงข้ามด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี จุดเริ่มต้นโครงข่ายถนนที่เชื่อมระหว่างลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ในจำนวน 9 จุดนี้ มี 2 จุดซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ได้แก่ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่น และที่เซโน แขวงสะหวันนะเขต ที่เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์โลจิสติกส์สากลแห่งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

สะหวันนะเขด

ปัจจุบัน ลาวได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็น 2 ฝ่าย และหลายกับเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศแล้ว ขาดแต่เพียงเมียนมา ที่แม้เพิ่งเปิดใช้สะพานมิตรภาพลาว-เมียนมาไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน แต่ปัจจุบันรถจากเมียนมาสามารถวิ่งเข้ามาในดินแดนลาวได้แค่เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งห่างจากเชิงสะพานประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนรถจากลาวสามารถวิ่งเข้าไปในเขตเมียนมาได้แค่เมืองเชียงลาบ รัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่เชิงสะพานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพถนนหนทางทั่วประเทศลาวปัจจุบันยังขาดการพัฒนาอยู่อีกหลายจุด ในแผนยุทธศาสตร์ใหม่จึงกำหนดให้หลังจากนี้ รัฐบาลลาวต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ให้กับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อ้างอิงจาก http://kpl.gov.la/detail.aspx?id=11866

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

เครือพงสะหวัน กับ Mekong Group

วันที่ 9 มีนาคม 2016 บริษัทประกันภัย APA ได้จัดพิธีเซ็นสัญญาแต่งตั้งให้บริษัท Deloitte & Touche Business Advisory(Deloitte) และบริษัท Mekong Group จากประเทศสิงคโปร์ เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งกิจการประกันภัยและประกันชีวิต โดยมีพล.ท.ไอ่ สุลิยะแสง ประธานกลุ่มบริษัทพงสะหวัน และ Dominic Goh เอกอัคราชทูตสิงคโปร์ ประจำ สปป.ลาว เข้าร่วม

การเซ็นสัญญาจัดขึ้นที่โรงแรมลาวพลาซ่า ผู้ร่วมเซ็นสัญญาประกอบด้วย แสงดาว บุบพะกอนคำ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทประกันภัย APA , Chaly Mah CEO ของ Deloitte Southeast Asia และ Michael Aw CEO บริษัท Mekong Group

บริษัทประกันภัย APA เป็นบริษัทใหม่ในกลุ่มบริษัทพงสะหวัน ที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต จากกระทรวงการเงิน


กลุ่มพงสะหวัน
Deloitte อยู่ในเครือข่าย Deloitte Touche Tohmatsu 1 ในบิ๊ก 4 ของบริษัทผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาชั้นนำของโลก

Mekong Group เป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีฐานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

เว็บไซต์ของ MekongGroup ไม่ได้บอกประวัติความเป็นมาของกิจการ บอกเพียงว่าธุรกิจของ Mekong Group คือการเสนอบริการที่สามารถเพิ่มมูลค่าแก่กิจการ ทั้งของเอกชนและรัฐบาลที่อยู่ในภูมิภาคอินโดจีน

บริการหลักๆของ Mekong Group คือให้คำปรึกษาในการขยายกิจการออกนอกประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถในสิงคโปร์ ส่งไปทำงานในกิจการของลูกค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการจัดหาเทคโนโลยี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่กิจการ

เว็บไซต์ระบุถึงประวัติของ Michael Aw CEO ของ Mekong Group ว่าจบการศึกษาด้านวิศวกรรม เคยทำงานกับบริษัทของอเมริกันมากว่า 21 ปี ก่อนที่จะมาตั้งบริษัทที่ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศ

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ในหมวดบริษัทในเครือ ซึ่งเว็บไซต์ Mekong Group ระบุว่ามีอยู่ 8 แห่ง ได้แก่

1.บริษัทพงสะหวัน กรุ๊ป
2.ธนาคารพงสะหวัน
3.บริษัทลาวเซ็นทรัลแอร์ไลน์ มหาชน
4.บริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มหาชน
5.Plus Daily Mart
6.ร้านกาแฟ Black Canyon ใน สปป.ลาว
7.ร้านอาหาร Morgen Restaurant & Café ใน สปป.ลาว
8.บริษัทสิทธิโลจิสติกลาว มหาชน

ประเด็นก็คือ ทั้ง 8 บริษัท เป็นบริษัทในกลุ่มพงสะหวันทั้งหมด

รายละเอียดของแต่ละบริษัท มีดังนี้

-บริษัทพงสะหวันกรุ๊ป เป็น Holding company หรือบริษัทหลักของกลุ่มพงสะหวัน ก่อตั้งขึ้นโดย ดร.ออด พงสะหวัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานใหญ่ กลุ่มพงสะหวัน

ดร.ออด พงสะหวัน
ดร.ออดทำธุรกิจมาหลากหลาย เริ่มต้นจากกิจการปั๊มน้ำมัน ต่อมาได้ตั้งบริษัทสะหวันรุ่งเรือง ขาออก-ขาเข้า เพื่อเก็บของป่ามาแปรรูปส่งออก และนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายให้กัประชาชนในแขวงสะหวันนะเขต

ในปี 1980 ได้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจค้าไม้โดยได้สร้างโรงเลื่อยขึ้นหลายแห่ง ผลิตไม้แปรรูปส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไทย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชาฯลฯ ด้วยมูลค่าการส่งออกแต่ละปีหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 1995 ขยายกิจการมาสู่ธุรกิจโทรคมนาคม โดยตั้งบริษัทพงสะหวันสะหนองอุปะกอนโทละคมในนครหลวงเวียงจัน เป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุสื่อสาร Icom และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Motorola, Philips, Panasonic

ระหว่างปี 1997-2001 ได้แตกแขนงธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยก่อตั้งบริษัทไพบูนการค้า ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว บริษัททองสะหวัน ขาออก-ขาเข้า จำกัดผู้เดียว บริษัทพงสะหวันก่อสร้าง และโรงแรมพงสะหวัน ภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัทพงสะหวัน

-ธนาคารพงสะหวัน สถาบันการเงินที่ถือเป็นกิจการหลักของกลุ่มพงสะหวัน

ธนาคารพงสะหวันถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของ สปป.ลาว ที่มีเอกชนลาวเป็นผู้ลงทุน 100% ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากธนาคารแห่ง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2007 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10 ล้านดอลลาร์ รวมกับเงินวางประกันไว้ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว อีก 2.5 ล้านดอลลาร์

ธนาคารพงสะหวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที 29 มีนาคม 2007 และในปี 2008 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 19.99 ล้านดอลลาร์

เว็บไซต์ของธนาคารพงสะหวัน ระบุว่าบริษัทในเครือธนาคารมี 2 บริษัท คือ บริษัทลาวเซ็นทรัลแอร์ไลน์ มหาชน และบริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มหาชน

-บริษัทลาวเซ็นทรัลแอร์ไลน์มหาชน ทำธุรกิจการบิน เดิมชื่อพงสะหวันแอร์ไลน์ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 ถือเป็นสายการบินของเอกชนลาวแห่งแรก เริ่มให้บริการด้วยเครื่องบิน Boeing 737-400 จำนวน 2 ลำในเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ คือกรุงเทพ-เวียงจัน ต่อมาได้มีการขยายเส้นทางบินไปยังจุดหมายต่างๆทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ฮานอย คุนหมิง เสียมเรียบ พนมเปญ โดยได้สั่งซื้อเครื่องบิน Sukhoi SuperJet 100 เข้าประจำการเพิ่มจำนวน 9 ลำ เริ่มส่งมอบ 3 ลำแรกเมื่อปี 2012

-บริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาวมหาชน ทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบครบวงจรทั่ว สปป.ลาว ภายใต้เครื่องหมายการค้า Plus

ปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2007 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 6.5 ล้านดอลลาร์ และได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 45.75 ล้านดอลลาร์ในภายหลัง มีจันทอน สิดทิไช เป็นรองประธานกรรมการ และผู้อำนวยการใหญ่

ในปี 2011 ปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาวได้ขยับจากผู้ค้าน้ำมันอันดับที่ 13 ของ สปป.ลาว ขึ้นเป็นอันดับที่ 2

ต้นปี 2015 ปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว เป็นบริษัทจดทะเบียนลำดับที่ 4 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ APM Lao บริษัทในเครือของบริษัทแอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จากประเทศไทย เป็นบริษัทที่ปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน

ธุรกิจของบริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว มีทั้ง oil และ non-oil โดยธุรกิจ non-oil ประกอบด้วยร้านสะดวกซื้อ Plus Daily Mart ซึ่งตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน Plus แฟรนไชส์ร้านกาแฟ Black Canyon และร้านอาหาร Morgen Restaurant & Café จากประเทศไทย

-PlusDaily Mart เป็นร้านสะดวกซื้อที่ให้เปิดอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน Plus บริหารงานโดยบริษัทลาวเดลีมาท ขาออก-ขาเข้า

-ร้านกาแฟ Black Canyon บริษัทขวันใจการค้า ขาออก-ขาเข้า ซึ่งมีมีจันทอน สิดทิไช เป็นผู้อำนวยการใหญ่ และมะนีวอน สิดทิไช เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีการเงิน ได้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ Black Canyon จากบริษัทแบล็คแคนยอน(ประเทศไทย) และเปิดสาขาแรกในนครหลวงเวียงจันที่ถนนสามแสนไทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2012

-ร้านอาหาร Morgen Restaurant & Café มะนีวอน สิดทิไช ได้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารแห่งนี้มาจากบริษัท EZ'S International Franchise ในเครือสยามสเต็ค กรุ๊ป และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2014

-บริษัทสิทธิโลจิสติกลาว มหาชน เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทปิโตรเลียมเทรดดิ้งลาว โดยให้บริการขนส่งน้ำมันไปยังสถานีบริการ Plus แต่ในปี 2013 ได้แยกตัวออกมาเป็นอีกบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างอิสระ แต่ยังคงเป็น 1 ในกลุ่มพงสะหวัน

ธุรกิจหลักของสิทธิโลจิสติกลาว คือบริการขนส่งสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในปี 2015 สิทธิโลจิสติกลาวมีรถบรรทุกจำนวน 79 คัน และพนักงานรวม 95 คน และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของลาวให้นำหุ้นสามัญจำนวน 60 ล้านหุ้นออกมากระจายขายกับประชาชนทั่วไป(IPO) เพื่อเตรียมเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ APM Lao เป็นที่ปรึกษา

กลุ่มพงสะหวันเป็นธุรกิจเอกชนที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของ สปป.ลาว ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา กิจการในกลุ่มพงสะหวันมีการเติบโตอย่างหน้าสนใจ

แต่การที่ Mekong Group บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ และเน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็นกิจการในภูมิภาคอินโดจีน ระบุโครงสร้างของบริษัท โดยโยงบริษัทในกลุ่มพงสะหวันเข้าไปอยู่ในเครือ Mekong Group ด้วยนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องที่หน้าสนใจยิ่งกว่า...