วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ลาวปรับยุทธศาสตร์จาก Land Link เป็น Logistics Hub

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าของประเทศ ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากรัฐบาลในปีที่แล้ว

แผนดังกล่าว เป็นผลต่อเนื่องหลังจากลาวได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยท่าเรือบก(Dry Port)

ตามแผนนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ให้เป็นจุดเด่นแก่ลาว จากประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล(Land Lock) ให้เป็นประเทศบริการทางผ่านด้านคมนาคมขนส่ง(Transit Services) หรือเป็นศูนย์กลางด้านพลาธิการขนส่ง(Logistics Hub)ของภูมิภาค

เป็นการขยายความยุทธศาสตร์เดิมที่ได้ปรับข้อจำกัดของประเทศซึ่งเป็น Land Lock ให้กลายเป็นจุดเด่นคือการเป็น Land Link หรือจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในภูมิภาค

แยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา

ในแผนยุทธศาสตร์ใหม่ ได้กำหนดพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์รวมและกระจายสินค้า หรือเขตโลจิสติกส์สากลทั่วประเทศไว้ 9 จุด ได้แก่

1.เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และเป็นปลายทางของถนนสาย R3a

2.นาเตย แขวงหลวงน้ำทา อยู่ห่างจากด่านบ่อเต็น ชายแดนลาว-จีน ลงมาประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นเมืองสามแยกที่เป็นจุดเชื่อมของถนนสาย R3a กับถนนสาย 13 เหนือ

เมืองไซ แขวงอุดมไซ
3.เมืองไซ แขวงอุดมไซ จุดกึ่งกลางโครงข่ายถนนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังชายแดนไทย-ลาว และชายแดนลาว-เวียดนาม

4.แขวงหลวงพระบาง

5.ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจัน ที่ตั้งสถานีรถไฟแห่งแรกของลาวที่เชื่อมกับทางรถไฟของไทย และยังเป็นปลายทางทางของทางรถไฟสายลาว-จีน

6.หลักซาว แขวงบอลิคำไซ ห่างจากชายแดนลาว-เวียดนามประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นเมืองหลักบนถนนหมายเลข 8 ที่เริ่มมาจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ปลายทางของถนนหมายเลข 8 คือท่าเรือหวุงอ๋าง เมืองฮาตินห์ ชายฝั่งทะเลเวียดนาม

7.เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ตรงข้ามกับ จ.นครพนม เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 และเป็นจุดเริ่มต้นของถนนหมายเลข 8 ซึ่งเป็นถนนที่สั้นที่สุดสำหรับเดินทางจากชายแดนไทยไปยังชายฝั่งทะเลเวียดนาม โดยมีระยะทางเพียงไม่ถึง 300 กิโลเมตร

8.เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขด ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เมืองสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East West Economic Corridor: EWEC)

9.วังเต่า แขวงจำปาสัก ตรงข้ามด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี จุดเริ่มต้นโครงข่ายถนนที่เชื่อมระหว่างลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ในจำนวน 9 จุดนี้ มี 2 จุดซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ได้แก่ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่น และที่เซโน แขวงสะหวันนะเขต ที่เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์โลจิสติกส์สากลแห่งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

สะหวันนะเขด

ปัจจุบัน ลาวได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็น 2 ฝ่าย และหลายกับเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศแล้ว ขาดแต่เพียงเมียนมา ที่แม้เพิ่งเปิดใช้สะพานมิตรภาพลาว-เมียนมาไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน แต่ปัจจุบันรถจากเมียนมาสามารถวิ่งเข้ามาในดินแดนลาวได้แค่เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งห่างจากเชิงสะพานประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนรถจากลาวสามารถวิ่งเข้าไปในเขตเมียนมาได้แค่เมืองเชียงลาบ รัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่เชิงสะพานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพถนนหนทางทั่วประเทศลาวปัจจุบันยังขาดการพัฒนาอยู่อีกหลายจุด ในแผนยุทธศาสตร์ใหม่จึงกำหนดให้หลังจากนี้ รัฐบาลลาวต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ให้กับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อ้างอิงจาก http://kpl.gov.la/detail.aspx?id=11866

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น