วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Kanbawza(1) ธนาคารกัมโพชะ...ธนาคารไทใหญ่

Kanbawza เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา...

รัฐฉาน รัฐของไทใหญ่ ก็เป็นรัฐซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดในเมียนมา...

ชื่อธนาคาร Kanbawza หรือ KBZ ย่อมเป็นที่คุ้นหูของคนไทย เพราะเป็นธนาคารสัญชาติเมียนมาแห่งแรกที่เข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยเมื่อปี 2016

แต่หากแปลตามรากศัพท์แล้ว ชื่อธนาคาร Kanbawza คือ“ธนาคารไทใหญ่”!!!

ธนาคาร Kanbawza สาขาเชียงตุง(บันทึกไว้เมื่อเดือนเมษายน 2011)

Kanbawza อ่านตามตัวอักษรภาษาพม่าว่า“ก่ะบอซ่ะ” อ่านตามตัวอักษรภาษาไทใหญ่คือ“กั่มป๊อจ้ะ”

ทั้ง 2 คำ ตรงกับคำภาษาบาลีซึ่งภาษาไทยอ่านว่า“กัมโพชะ” หรือ“กัมโพช”

คำว่า“กัมโพชะ”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเขมร หรือประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด

แต่เป็นชื่อในภาษาบาลีของอาณาจักรไทใหญ่ในอดีต

ความเป็นมาของชื่อ“กัมโพช”หรือ“กัมโพชะ”ในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นไปตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในพื้นที่แถบนี้มาช้านาน

ชื่ออาณาจักรหรือเมืองหลายแห่งในสุวรรณภูมิ ตั้งตามชื่ออาณาจักรหรือชื่อเมืองในชมพูทวีปที่มีการกล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก อาทิ

เมืองหมอกขาวมาวโหลง เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไทใหญ่ในอดีตในยุคเจ้าเสือข่านฟ้า ซึ่งปัจจุบันคือเมืองรุ่ยลี่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลหยุนหนาน ของจีน เดิมมีชื่อว่าเมือง“โกสัมพี”

เมืองเชียงรุ่ง เมืองหลวงของอาณาจักรสิบสองปันนาของชาวลื้อ ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ในมณฑลหยุนหนานเช่นกัน มีชื่อเดิมว่าเมือง“พาราณสี”

อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ต้นกำเนิดของชาวล้านนาที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ตั้งตามชื่อของแคว้นโยนก ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป

แม้แต่กรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีของสยามเอง ที่มาของชื่อก็ตั้งตามดินแดนที่ถูกกล่าวถึงในพระไตรปิฎก

การที่อาณาจักรไทใหญ่ที่อยู่ในเขตแดนของเมียนมาปัจจุบัน ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า“กัมโพช” หรือ“กัมโพชะ” ก็เป็นไปตามคติความเชื่อนี้

“กัมโพช”เป็นชื่อของอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งในชมพูทวีป ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเมืองทวารกา

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือ“ความเป็นมาของคำ สยาม ไทย ลาว และขอม”ว่า ในภาษาราชการของพม่าสมัยก่อนนั้น เรียกบรรดารัฐไทใหญ่ทั้งหมด นับแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีจนเข้าไปในดินแดนหยุนหนานของจีนว่ากัมโพช และเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่ครองรัฐต่างๆ ก็นำคำว่ากัมโพชมาเป็นส่วนหนึ่งในนามทางการของตน

จิตรอ้างข้อมูลของพระยาประชากิจกรจักร ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารไต ที่ระบุนามของเจ้าฟ้าไตของเมืองต่างๆในยุคหนึ่งไว้ ดังนี้

-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีปวรสุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองนาย
-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีสุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองลายค่า
-เจ้ากัมโพชศรีมหาวงศ์ศรีธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองปั่น
-เจ้ากัมโพชรัฐวงศ์สีหธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองปุ
-เจ้ากัมโพชรัฐมหาวงศ์ศรีราช...เจ้าฟ้าเมืองหมอกใหม่
-เจ้ากัมโพชรัฐศรีปวรมหาวงศ์สุธรรมราช...เจ้าฟ้าเมืองยอง
-เจ้ากัมโพชมหาวงศ์...เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ

พระยาประชากิจกรจักรระบุว่าเจ้าฟ้าไทใหญ่เชื่อว่าเชื้อสายของตนมาจากวงศ์กัมโพช โดยเมืองแสนหวีซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไทใหญ่ด้วยนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เมืองศิริวิลาศมหากัมโพชสังฆีโกสามพี

ในยุครุ่งเรืองที่สุดของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระองค์รบชนะเมืองต่างๆ สามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าเป็นปึกแผ่นจนได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศแล้ว พระองค์ได้สร้างพระมหาราชวังขึ้นในเมืองหงสาวดี(เมืองหลวงเก่าของมอญ) โดยใช้เชลยจากประเทศราชต่างๆที่พระองค์รบชนะเป็นแรงงานในการก่อสร้าง

รอบพระมหาราชวังมีประตู 20 แห่ง แต่ละประตูตั้งชื่อตามเมืองที่พระองค์ได้พิชิตมาได้ อาทิ ประตูโยเดีย ประตูเชียงใหม่ฯลฯ

ทรงตั้งชื่อพระมหาราชวังแห่งนี้ว่า“กัมโพชธานี”(Kanbawzathadi Golden Palace)

ปัจจุบัน กัมโพชธานีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองหงสาวดี(พะโค)…

“The name Kanbawza is a traditional name for Shan State, an ethnic minority state of the Republic of the Union of Myanmar.”เป็นช่วงแรกของเนื้อหาส่วน Our History ในเว็บไซต์ของ Kanbawza Bank

ธนาคาร Kanbawza ก่อตั้งในวันที่ 1 กรกฏาคม 1994 ที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน วัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนในท้องถิ่น

เดือนพฤศจิกายน 1999 ธนาคาร Kanbawza ปรับโครงสร้าง “สย่าจอง”หรือคุณครูอ่อง โก วิน อดีตครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมประธาน Myanmar Billion Group กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในรัฐฉาน ได้เข้ามาบริหารในฐานะประธานธนาคาร

เดือนเมษายน 2000 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา

การเปิดประเทศ การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2010 ได้ส่งผลให้ธุรกิจของ Kanbawza ได้โอกาสขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

เดือนพฤศจิกายน 2011 ธนาคารกลางเมียนมาได้ให้ใบอนุญาตธุรกิจต่างประเทศแก่ธนาคาร Kanbawza ทำให้สามารถขยายขอบข่ายธุรกรรมการเงินไปยัง 3 สกุลหลักได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ(USD) 
ยูโร(EUR) ดอลลาร์สิงคโปร์(SGD) และต่อมาได้เพิ่มธุรกรรมเงินบาทไทย(THB)ขึ้นมาอีก 1 สกุล

ปี 2012 ธนาคาร Kanbawza จับมือกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยในการโอนเงินกลับบ้าน

ในปี 2013 Kanbawza ได้เข้าเป็นสมาชิก Master Card และนำเครื่อง ATM มาให้บริการแก่ลูกค้า จากนั้นในเดือนเมษายนได้จับมือกับ Western Union เปิดให้บริการชำระเงินและโอนเงินด่วนระหว่างประเทศได้ที่สาขาของธนาคาร ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมียนมา

ปี 2016 ธนาคาร Kanbawza ได้เปิดสำนักงานตัวแทนต่างประเทศแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้บริการแก่แรงงานชาวเมียนมามากกว่าล้านคนที่เข้ามาทำงานที่นี่

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา(2017) ธนาคาร Kanbawza ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยออกบัตรโอนเงินไทย-เมียนมา(Myanmar Remit Card) เพื่อให้บริการแรงงานเมียนมาในไทยสามารถโอนเงินกลับบ้านได้โดยสะดวก รวดเร็ว จากเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง

ปัจจุบัน ธนาคาร Kanbawza มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ 420 แห่ง และมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เรื่องราวของ Kanbawza ยังไม่จบ ยังคงมีข้อมูลอีกมากที่กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเพื่อมานำเสนอต่อในเร็วๆนี้…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น