วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โหมโจมฮับต้อนปีใหม่ไต 2112

คืนวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ชุมชนชาวไทใหญ่หลายแห่งมีปอยหรืองานรื่นเริงเฉลิมฉลอง


ภายในงานมีข้อความภาษาไตเขียนว่า“โหมโจมฮับต้อนปีใหม่ไต” และ“ใหม่สูงปีใหม่ 2112”อยู่ทั่วไปหมด

ข้อความทั้ง 2 แปลว่า“ยินดีต้อนรับวันปีใหม่ไทใหญ่” และ“สวัสดีปีใหม่ 2112”


ใช่แล้ว…คืนวันนี้ เป็นคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวไทใหญ่!!!

เวลา 00.00.01 น. หรือหลังผ่านพ้นเที่ยงคืน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากแรม 15 ค่ำ เดือน 12 เข้าสู่วินาทีแรกของขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1

ศักราชที่ 2111 ปีเก่าของชาวไทใหญ่ได้ผ่านพ้นไปศักราชใหม่ 2112 ก้าวเข้ามาแทนที่...
 



ชาวไทใหญ่นับปีตามปฏิทินจันทรคติมานานกว่า 2,100 ปี

ก่อนหน้านี้ ชุมชนที่อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิหลายแห่งได้เคยยึดการนับปีตามคตินี้เช่นกัน เพราะเมื่อแต่ละปีผ่านพ้นไป เหมือนเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งในรอบใหม่ ทั้งวัน เดือน และปี แต่ภายหลัง เมื่ออิทธิพล ความเชื่อตามหลักศาสนาต่างๆแพร่ขยายเข้ามาในชุมชนเหล่านี้ คติการนับปีของหลายชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ชาวไทใหญ่เริ่มต้นนับศักราชที่ 1 ใน พ.ศ.450

แต่การนับพุทธศักราชในประเทศเพื่อนบ้าน กับประเทศไทยนั้นแตกต่างกัน ประเทศไทยเริ่มนับพุทธศักราชที่ 1 หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี ขณะที่ในรัฐฉาน ในพม่าและกัมพูชา เริ่มนับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็นพุทธศักราชที่ 1  ดังนั้น พ.ศ.ของไทยกับประเทศเพื่อบ้านจึงจากห่างกัน 1 ปี
 
พ.ศ.450 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นศักราชที่ ของไทใหญ่ หากนับในแบบคนไทยจะเท่ากับ พ.ศ.449





จุดเริ่มต้นศักราชไทใหญ่ เกิดจาก 2 เหตุการณ์ด้วยกัน


เว็บไซต์ของสถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ระบุว่าคนไทใหญ่กลุ่มหนึ่ง เริ่มนับศักราชที่ 1 เมื่อครั้งอาณาจักรไตนำพระไตรปิฏกจากประเทศอินเดียเข้ามาเป็นปีแรก ขณะที่คนไทใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งเริ่มนับศักราชที่ 1 เมื่อเจ้าฟ้าไตในอาณาจักรไตมาว สามารถรวบรวมบ้านเมืองขึ้นเป็นปึกแผ่น เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่

Tai Community Online เฟสบุ๊คแฟนเพจที่ได้รับความนิยมของชาวไทใหญ่ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พ.ศ.450 เจ้าขุนยี่ โอรสองค์ที่สองของเจ้าอูแต่ กษัตริย์เมืองหนองแส ได้ตั้งเมืองมาวขึ้น และได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกภาพจากเจ้าฟ้าเมืองอื่นๆ จึงเกิดเป็นอาณาจักรไทใหญ่ที่มีความเป็นปึกแผ่น

ปีเดียวกัน เจ้าอูแต่ ให้เจ้าขุนจาย ราชโอรส ไปเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศศรีลังกามายังดินแดนไทใหญ่ พระไตรปิฎกมาถึงแผ่นดินไทใหญ่ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ชาวไทใหญ่จึงถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของ พ.ศ.450 เป็นวันเริ่มต้นศักราชที่ 1 ของชนชาติตนเอง...



พ.ศ.2098 พม่าในยุคพระเจ้าบุเรงนอง ได้แผ่อิทธิพลขึ้นมาครอบงำอาณาจักรไทใหญ่ในรัฐฉาน จากนั้น พ.ศ.2136 อาณาจักรไทใหญ่ในเมืองมาว ก็ถูกจีนเข้าครอบครอง และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองรุ่ยลี่ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานและจีน จึงต้องเปลี่ยนการนับศักราชให้เป็นไปตามความเชื่อของประเทศผู้ครอบครอง


จน พ.ศ.2509 คณะกรรมการภาษาและวัฒนธรรมเมืองมาวได้ฟื้นฟู“วันปีใหม่ไต”ขึ้นใหม่ ให้กลับมายึดวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 เป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่เหมือนในอดีต
 

ประเพณีปีใหม่ไตที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง ได้ขยายลงมายังเมืองล่าเชี่ยวฝั่งรัฐฉานในอีก 1 ปีถัดมา จากนั้นก็ขยายไปยังชุมชนไทใหญ่ในที่อื่นๆ จนถึง พ.ศ.2518 ชุมชนไทใหญ่ในรัฐฉานทุกแห่งก็ได้ยึดวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 เป็นวันขึ้นปีใหม่โดยพร้อมเพรียงกันหมด
 

ส่วนในประเทศไทย ชาวไทใหญ่ที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มประเพณีปีใหม่ไตครั้งแรกขึ้นใน พ.ศ.2529 และขยายออกมายังชุมชนไทใหญ่ทุกแห่งจนถึงทุกวันนี้.....

ภาพประกอบบทความนี้ เป็นบรรยากาศปอยปีใหม่ไต 2112 ในคืนวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560 ณ วัดกู่เต้า อ.เมือง เชียงใหม่
 

ႁူမ်ၸူမ်းႁပ်ႉတွၼ်ႈပီမႂ်ႇ 2112

မႂ်ႇသုင်ၶႃႈ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น