ชื่อชุมชนบ้านมอญ ใครได้ยินหรือผ่านไปเห็น ย่อมเข้าใจได้ว่าต้องเป็นชุมชนของคนมอญ
สร้างโดยคนมอญ หรือเป็นถิ่นพักอาศัยของคนมอญ
แต่สำหรับชุมชน“บ้านมอญ”
ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มิได้เป็นเช่นนั้น
ชุมชนบ้านมอญที่นี่
ไม่ได้สร้างโดยคนมอญหรือเป็นถิ่นพักอาศัยของคนมอญแต่อย่างใด
ชุมชนบ้านมอญสร้างโดยคนขืน
และปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านมอญเกือบทั้งหมด เป็นลูกหลานชาวขืนที่โยกย้ายมาอยู่ในดินแดนล้านนาตั้งแต่เมื่อกว่า
200 ปีก่อน!!!
คนขืนคือชาวเชียงตุง ที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานภาคตะวันออกแม่น้ำสาลวิน
ตัวแทนชาวบ้านมอญเมื่อครั้งไปร่วมพิธีเปิดเฮือนไทเขินที่บ้านสันก้างปลา อ.สันกำแพง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 |
คนส่วนใหญ่มักชินกับการเรียกคนที่ย้ายมาจากเชียงตุงในอดีตว่าเป็น“ไทเขิน”
ความที่คนเหล่านี้มีฝีมือในการสรรค์สร้างงานหัตถกรรม เครื่องใช้ที่ทำจากไม้
ลงรัก ตกแต่งลวดลาย ประดับสีสันอย่างสวยงามด้วยวัตถุธรรมชาติต่างๆเช่นชาด มุก เงินเปลว
ทองคำเปลว จึงตั้งชื่องานหัตถกรรมเหล่านี้ว่า“เครื่องเขิน”ตามไปด้วย
“เขิน”เป็นเสียงที่แปร่งมาจากคำว่า“ขืน”ที่ชาวเชียงตุงใช้เรียกตนเอง
เป็นคำเรียกที่อ้างอิงจากสภาพพื้นที่ของเชียงตุงที่มีแม่น้ำขืนไหลผ่าน
แม่น้ำขืนไหลจากฝั่งตะวันตกของเชียงตุงขึ้นไปทางเหนือ
จึงเหมือนขืนธรรมชาติ เลยถูกตั้งชื่อว่าแม่น้ำขืน คนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำขืนจึงเรียกตัวเองเป็นชาวขืนตามชื่อแม่น้ำ...
เรือนโบราณของชาวบ้านมอญตั้งแสดงอยู่ภายในวัดสีมาราม |
ชาวขืนโยกย้ายมาอยู่ในล้านนายุคที่พระเจ้ากาวิละใช้กุศโลบายเก็บผักใส่ซ้า
เก็บข้าใส่เมือง ระหว่าง พ.ศ.2334-2347 ด้วยการไปรวบรวมผู้คนตามเมืองต่างๆในรัฐฉานให้ย้ายมาตั้งชุมชน
บ้านเรือน ในเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเชียงใหม่ที่เป็นเมืองร้างอยู่หลายปีในช่วงก่อนหน้านั้น
อำเภอสันกำแพงเป็นเป็นพื้นที่ซึ่งชาวขืนจำนวนมากย้ายมาตั้งถิ่นฐาน
และเขตที่เป็นตำบลสันกลางปัจจุบันเป็นจุดหนึ่งที่มีชาวขืนอาศัยอยู่หนาแน่น
ชุมชนบ้านมอญเป็นพื้นที่แรกๆที่ชาวขืนได้เข้ามาสร้างบ้านเรือน
ตั้งเป็นชุมชนขึ้นมา
มีการสร้างวัดบ้านมอญเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ใน พ.ศ.2340 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่
15 มิถุนายน 2400
วัดบ้านมอญ |
เมื่อแรกสร้าง เพื่อให้พระสงฆ์ของวัดบ้านมอญสามารถทำสังฆกรรมได้อย่างเงียบสงบ
จึงได้สร้างอุโบสถให้ห่างจากตัววัดไปประมาณ 500 เมตร
ภายหลังชุมชนบ้านมอญขยายตัวมีประชากรมากขึ้น วันที่ 29 กันยายน
2532 จึงได้ยกอุโบสถวัดบ้านมอญขึ้นเป็นอีกวัดหนึ่งตั้งชื่อว่าวัดสีมาราม ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่
6 กุมภาพันธ์ 2540
อุโบสถเดิมของวัดบ้านมอญ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสีมาราม |
ส่วนวัดบ้านมอญก็ได้สร้างอุโบสถใหม่เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ได้มีสถานที่ทำสังฆกรรม
วัดบ้านมอญมีชื่อเสียงในเรื่องของต้นโพธิ์แฝดซึ่งถูกพบโดยบังเอิญเมื่อปี
2550 จากการแผ้วถางทำความสะอาดบริเวณโคนต้นโพธิ์เก่าแก่ประจำวัด เมื่อได้รื้อกลุ่มไม้ค้ำสะหลีออก พบว่าบริเวณโคนมีลักษณะเหมือนต้นโพธิ์ 2 ต้นขึ้นมาเคียงคู่กันและไปบรรจบกันตรงด้านบน
เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไป มีประชาชนจำนวนมากแสดงศรัทธา เดินทางมาลอดช่องว่างที่โคนต้นโพธิ์แฝด
2 ต้นนี้เพื่อเป็นศิริมงคล
ต้นโพธิ์แฝดภายในวัดบ้านมอญ |
ปัจจุบัน
พื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับวัดบ้านมอญจัดการปกครองเป็นชุมชนบ้านมอญหมู่ที่ 1 ส่วนพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับวัดสีมาราม เป็นชุมชนบ้านมอญหมู่ที่ 2
แล้วทำไมจึงตั้งชื่อเป็นชุมชนบ้านมอญ...???
ไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดถึงสาเหตุของการตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่าบ้านมอญ
สอบถามกับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีเพียงข้อสันนิษฐาน
คนเฒ่า คนแก่บางคน เชื่อว่าคนมอญคือคนขืนโบราณ
ดังที่เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลวัดได้บันทึกประวัติวัดบ้านมอญเอาไว้ว่า...
“...วัดบ้านมอญสร้างเมื่อ
พ.ศ.2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน
พ.ศ.2400 แต่เดิมสันนิษฐานว่าคงจะมีการสร้างวัดขึ้นมาพร้อมกับการย้ายมาตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ
ซึ่งเป็นชาวไทเขอนโบราณ ที่ได้อพยพมาจากเขมรัฐนครเชียงตุง...”
แต่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง
เชื่อว่าชื่อชุมชนบ้านมอญถูกตั้งขึ้นจากสภาพพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อครั้งที่ชาวขืนได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ๆ
ป้ายประวัติต้นโพธิ์แฝดของวัดบ้านมอญ เขียนไว้ว่า...
“...ในประวัติที่แท้จริงแล้วไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์แฝดต้นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสมัยใด
แต่จากประวัติของวัดบ้านมอญแล้วนั้น สันนิษฐานว่าถูกตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่พระเจ้ากาวิละได้ปราบกบฏ
ฟื้นเมืองเชียงใหม่ นำชาวไทเขินจากเขมรัฐนครเชียงตุงมาไว้ ณ สถานที่แห่งนี้
และประกอบกับสถานที่แห่งนี้มีต้นไม้ที่ชื่อว่า“ต้นมอญ”(ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีลักษณะอย่างไร)
ปลูกเรียงรายในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อใส่นามว่าวัดบ้านมอญ...”
เว็บไซต์ของเทศบาลตำบลสันกลาง
ในหัวข้อประวัติชุมชน
น่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้รายละเอียดเรื่องที่มาของชื่อที่ชัดเจนที่สุด
โดยระบุว่า...
“...ในสมัยก่อนเล่ากันว่าในถิ่นนั้นมีต้นไม้ชื่อว่าไม้มอนหรือไม้หม่อน
จากข้อสันนิษฐานจากผู้เฒ่าผู้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านเล่าว่า
น่าจะมาจากคำว่าหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหม ต่อมามีการสะกดชื่อมอนเป็นมอญ
แต่ไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุของการเปลี่ยนตัวสะกด ดังนั้นคำว่าบ้านมอญ
จึงไม่ได้หมายถึงชนชาวมอญแต่อย่างใด...”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น