วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกร็ดเล็กๆของพระธาตุ“เจียงตึง” เมืองสิง

พระธาตุเจียงตึงถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ที่ตั้งพระธาตุ อยู่บนยอดดอย ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร

หากเดินทางโดยรถยนต์จากเมืองหลวงน้ำทาที่ห่างออกไปประมาณ 53 กิโลเมตร เพื่อไปยังเมืองสิง พระธาตุเจียงตึงเป็นจุดแรกที่ผู้เดินทางต้องพบก่อนเข้าสู่ตัวเมืองสิง หน้าทางขึ้นพระธาตุมีซุ้มประตูเมืองที่เขียนคำต้อนรับผู้เดินทาง

พระธาตุเจียงตึง เมืองสิง

ประวัติพระธาตุเจียงตึงตามตำนานเล่าว่า พระนางเขมา ชายาม่ายของอดีตเจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง เป็นผู้สร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2338

ก่อนที่จะสร้างพระธาตุ พระนางเขมาพร้อมบุตรชายและผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ได้อพยพมาสร้างชุมชนขึ้นบริเวณเชิงดอยที่ตั้งพระธาตุ จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้น

นับแต่นั้นมา พระธาตุเจียงตึงได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสิง ทุกวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 จะมีงานบุญใหญ่เพื่อสักการะองค์พระธาตุทุกปี

นอกจากชาวเมืองสิงแล้ว ชาวเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองหล้า เมืองพง ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาของจีน ก็มาร่วมทำบุญและสักการะองค์พระธาตุด้วย

งานบุญพระธาตุเจียงตึง ตรงกับงานบุญพระธาตุหลวง ที่นครหลวงเวียงจัน...



เกี่ยวกับชื่อพระธาตุเจียงตึงนั้น มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ น่าสนใจ

ในประเทศลาวทุกวันนี้ น่าจะมีเมืองสิงเพียงเมืองเดียวที่ใช้คำว่า“เจียง” เรียกชื่อสถานที่บางแห่ง และเป็นการเรียกที่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ

นอกจากพระธาตุเจียงตึงแล้ว ในตัวเมืองสิงยังมีวัดหลวงเจียงใจ วัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ของเมืองต่อจากวัดหัวโข

วัดหลวงเจียงใจ

แต่ด้วยความที่วัดหลวงเจียงใจตั้งอยู่ใจกลางเมือง จึงได้รับการดูแล ทะนุบำรุงจากศรัทธาของคนลื้อในเมืองสิงตลอดเวลา สภาพของวัดจึงดูสวยงามกว่าวัดหัวโข ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของเมืองสิง

คำว่า“เจียง”เป็นสำเนียงลื้อและล้านนา เป็นการกล่าวถึงดินแดน เมือง หรืออาณาจักร

คำว่า​“เจียง”มีความหมายตรงกับคำว่า“เวียง” “เชียง” หรือ“เซียง”ในล้านนา ภาษาไทย และภาษาลาว

คำว่าเจียงถูกใช้เรียกชื่อพระธาตุเจียงตึงและวัดหลวงเจียงใจมาตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองสิงเมื่อ 200 ปีก่อน

หลังสงครามอินโดจีน เมื่อเหตุการณ์ในลาวสงบ มีการจัดรูปแบบประเทศขึ้นใหม่ รัฐบาลกลางและผู้บริหารท้องถิ่นเคยพยายามเปลี่ยนชื่อพระธาตุเจียงตึงและวัดหลวงเจียงใจ โดยนำคำว่าเซียงมาใช้เรียกให้เหมือนกับสถานที่อื่นๆในประเทศ เช่นวัดเซียงทอง แขวงเซียงขวง เมืองเซียงกกฯลฯ

แต่พระธาตุเจียงตึงและวัดหลวงเจียงใจ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระธาตุเซียงตึงและวัดหลวงเซียงใจอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกทัดทานคนในพื้นที่ เพราะไม่ใช่สำเนียงตามภาษาดั้งเดิม ในที่สุดผู้บริหารเมืองจึงยอมเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อพระธาตุเจียงตึงและวัดหลวงเจียงใจแบบเก่าจนถึงทุกวันนี้


ภาษาลื้อ เป็นภาษาที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาถึงดินแดนล้านนา ภาคเหนือของลาว ตลอดจนเมืองยอง เมืองเชียงตุง ในรัฐฉานภาคตะวันออกของแม่น้ำสาลวิน เพราะเป็นดินแดนที่มีชุมชนชาวลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ในช่วงหลัง เมื่อมีการตีเส้นสมมุติ แบ่งเขตการปกครองเป็นประเทศต่างๆ คนของแต่ละประเทศต่างยอมรับความแตกต่างกันของสำเนียงภาษา

ในเมืองเอกของสิบสองปันนาที่คนไทยเรียกว่าเชียงรุ่ง ถ้าอ่านตามสำเนียงลื้อคือเจียงฮุ่ง รัฐบาลจีนก็ยอมรับ แต่สำเนียงจีนเมื่อพูดถึงเจียงฮุ่งได้กลายเป็นเมือง“จิ่งหง”

เมืองเชียงตุง เสียงเรียกตามสำเนียงชาวขืนคือเจียงตุ๋ง เหมือนกับคนล้านนาในอดีตเรียก เวลากล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ก็จะพูดว่าเจียงใหม่ เจียงฮาย

คนพม่าก็ยอมรับ แต่สำเนียงพม่าเวลาพูดถึงเมืองเชียงตุงจะเรียกว่า“ไจต่ง” ส่วนคนไทใหญ่เรียงเมืองนี้ว่าเกงตุ๋ง

เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่น่าสนใจ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น